เมืองตานี
อาณาจักรปัตตานี (มาเลย์: كراجأن ڤتاني; Kerajaan Patani) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสในปัจจุบัน ไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าอาณาจักรปัตตานีถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้ก่อตั้ง แต่น่าจะมีความสืบเนื่องไปถึงสมัยลังกาสุกะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เดิมอาณาจักรปัตตานีนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม[2] และมีความเจริญรุ่งเรืองมาก โดยบางช่วงอาณาจักรแผ่ขยายครอบคลุมถึงกลันตันและตรังกานู ตอนกลางของมาเลเซีย [3] แต่หลังการสิ้นสุดราชวงศ์ศรีวังสา อาณาจักรปัตตานีก็เริ่มเสื่อมลง จนตกอยู่ในอำนาจของสยามในปี พ.ศ. 2329 และกลายเป็นเมืองขึ้นเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2445 ก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ
เมืองปัตตานีพัฒนาขึ้นมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ริมฝั่งทะเล เมื่อมีเรือสินค้ามาจอดแวะอยู่บ่อยๆ เมืองก็ขยายตัวออกไป มีผู้คนมาอาศัยหนาแน่น รายาศรีวังสาจึงย้ายเมืองหลวงจาก "โกตามะห์ลิฆัย" เมืองหลวงเก่า[4]มายังปัตตานี สมัยนั้นการติดต่อกับต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียและอาหรับได้ส่งผลสำคัญคือการยอมรับนับถือศาสนาอิสลามโดยตามตำนานกล่าวว่าชาวปาไซทำการรักษาอาการป่วยของรายาอินทิราที่ไม่มีใครสามารถรักษาให้หายได้ พระองค์จึงยินยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม[5] และการดัดแปลงอักษรอาหรับเป็นอักษรยาวี นอกจากนี้ยังติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาอย่างใกล้ชิด พ.ศ. 2106 พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา รายามุซซอฟาร์ได้ส่งทัพไปช่วย แต่เมื่อมาถึงปรากฏว่ากองทัพปัตตานีกลับบุกเข้าไปในเมือง แม้จะยึดพระราชวังไว้ได้ แต่สุดท้ายก็ถูกตีตอบโต้กลับมา รายามุซซอฟาร์สิ้นพระชนม์ขณะยกทัพกลับ พระศพถูกฝังไว้ที่ปากอ่าวริมแม่น้ำเจ้าพระยา[6] โอรสของพระองค์จึงได้ชื่อว่า รายาปาเตะสิแย จากเหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์กับอยุธยาตกต่ำลง ขณะที่เหตุการณ์ภายในก็เต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจในหมู่เครือญาติเรื่อยมา จนกระทั่งไม่มีผู้สืบทอดอำนาจหลงเหลือ บัลลังก์รายาจึงตกเป็นของสตรีในที่สุด
อาณาจักรปัตตานีในช่วงสมัยรายาฮีเยา(พ.ศ. 2127-2159) ถึงรายากูนิง (พ.ศ. 2178-2231) ซึ่งล้วนเป็นกษัตรีย์ ถือเป็นอาณาจักรของชาวมลายูที่มี ความรุ่งเรืองมากที่สุด หลังจากมะละกาตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ทำให้ปัตตานีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายและมีความรุ่งเรืองมาก ดังบันทึกของชาวต่างชาติว่า
“พลเมืองปัตตานีมีชายอายุ 16-60 ปี อยู่ถึง 150,000 คน เมืองปัตตานีมีผู้คนหนาแน่น เต็มไปด้วยบ้านเรือน บ้านเรือนราษฎรนับตั้งแต่ประตูราชวังถึงตัวเมืองปลูกสร้างเรียงรายไม่ขาดระยะ หากว่ามีแมวเดินบนหลังคาบ้านหลังแรกไปยังหลังสุดท้าย ก็เดินได้โดยไม่ต้องกระโดดลงบนพื้นดินเลย”
และ “ปัตตานีมีแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้การปกครองถึง 43 แคว้น รวมทั้งตรังกานู และกลันตันด้วย” [7]
ในสมัยรายาฮิเยา การติดต่อค้าขายกับต่างชาติเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือสินค้าเข้ามาเทียบท่าอย่างไม่ขาดสาย และเริ่มการค้ากับฮอลันดา สเปน และอังกฤษเป็นครั้งแรก[8] พระองค์ยังพระราชทานพระขนิษฐาอูงูแก่สุลต่านแคว้นปาหัง เพื่อคานอำนาจกับแคว้นยะโฮร์[3] ต่อมาในสมัยรายาบีรู ปัตตานีและกลันตันรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐปตานี และทรงพระราชทานพระธิดากูนิง ธิดาของพระขนิษฐาอูงูกับสุลต่านแคว้นปาหัง แก่ออกญาเดโช บุตรเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
แต่หลังจากรายาบีรูสวรรคตในปี 2167 รายาอูงูซึ่งเสด็จกลับมาจากปาหังก็ตัดสัมพันธ์กับอยุธยา ทรงยุติการส่งบรรณาการแด่อยุธยา ยกทัพตีเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราช พระนางยังให้พระธิดากูนิง ภรรยาของออกญาเดโช อภิเษกกับสุลต่านแคว้นยะโฮร์[3] ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้พระเจ้าปราสาททองทรงส่งกองทัพเข้าโจมตีเมืองปัตตานีในปี พ.ศ. 2177 แต่ไม่อาจเอาชนะได้[9] เมื่อถึงปี พ.ศ. 2178รายาอูงูเสด็จสวรรคต นำไปสู่การเจริญสัมพันธไมตรีที่แน่นแฟ้นของ 2 อาณาจักรขึ้นใหม่ในช่วงสั้นๆ ปัตตานีส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองแก่อยุธยาตามเดิม และรายากูนิงเสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2184[3] แต่ความสัมพันธ์กับกลันตันกลับตกต่ำลง ราชวงศ์ศรีวังสาสิ้นสุดลง เมื่อกองทัพกลันตันยกทัพตีเมืองปัตตานีแตกในปี พ.ศ. 2231 รายากูนิงเสด็จหนีไปแคว้นยะโฮร์ และสิ้นพระชนม์ลงระหว่างทางที่แคว้นกลันตัน หลังจากนั้นมาอาณาจักรปัตตานีก็ไม่สามารถกลับมารุ่งเรืองได้อย่างเก่าอีก และอยู่ภายใต้การปกครองของกลันตัน เศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้อาณาจักรอ่อนแอลง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น